ต้นเหตุจาก PM2.5 สามี อาจารย์ มช. ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิต เผยผลตรวจเนื้อเยื่อ ฝุ่นพิษทำให้ยีนส์กลายพันธุ์ หวังรัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหา

ต้นเหตุจาก PM2.5 สามี อาจารย์ มช. ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิต เผยผลตรวจเนื้อเยื่อ ฝุ่นพิษทำให้ยีนส์กลายพันธุ์ หวังรัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหา

ต้นเหตุจาก PM2.5 สามี อาจารย์ มช. ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิต เผยผลตรวจเนื้อเยื่อ ฝุ่นพิษทำให้ยีนส์กลายพันธุ์ หวังรัฐบาลใส่ใจการแก้ปัญหา ลดความรุนแรงให้ได้

หลัง ผศ.ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก “รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ในรอบ 2 ปี

มีนาคม 2565 . รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กันยายน 2566 . รศ.ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.

ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมษายน 2567 .. ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”

“รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด

ต่อเรื่องดังกล่าว นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 4 ราย

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ กลับพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสัดส่วนที่สูงมากกว่าที่อื่น

จากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการมาอยู่ในพื้นที่ ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัยเป็นระยะเวลานานมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมากเป็นระยะเวลา 2-3 ปีก็มีความเสี่ยงแล้ว

ซึ่งไม่ใช้เป็นการได้รับผลกระทบระยะสั้นหรือแค่แสบตา ตาแดง แสบจมูก หากเป็นการสะสมของพิษ และส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างรุนแรงทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นเรื่องซึ่งมันไม่ได้เกิดช่วงที่หมอกควันปกคลุมแต่เป็นการสะสมของพิษระยะยาว

ขณะที่ ที่วัดสวนดอกพระอารามหลวง ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ ศ.ดร.ระวิวรรณ เปิดเผยว่า ภรรยาเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกคิดว่าภรรยาป่วยเป็นลองโควิด แต่ช่วงหนึ่งมีอาการไอ และมีเลือดออกมา จึงตัดสินใจตรวจสุขภาพที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4

หลังจากนั้นทางแพทย์เจ้าของไข้ จึงวางแนวทางในการรักษา เริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งว่ามะเร็งปอดตัวนี้มันเกิดจากอะไร โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ พบว่าเป็นผลจาก PM 2.5 ทำให้เกิดยีนส์กลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งยีนส์กลายพันธุ์ตัวนี้มักเกิดกับผู้หญิงเอเชีย

อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงรัฐบาลว่าจริงๆเราพบปัญหา PM 2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจนเราจึงไม่ให้ความสำคัญกับเรา แต่เมื่อวันหนึ่งถ้าคนในครอบครัว หรือตัวเราเองป่วยเป็นมะเร็งปอด เราจะรู้ทันทีว่า PM 2.5 มันเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมาก

อยากให้กรณีของ อ.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษาว่า หลังจากนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใส่ใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดมันอาจไม่ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไปแต่หวังว่าให้ลดความรุนแรงลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

นายจิตรกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวจะมอบร่าง อ.ระวิวรรณ ให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไปตามที่ อ.ระวิวรรณ เคยตั้งใจไว้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *